แนวปฏิบัติการป้องกัน COVID-19 ในการทำงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกในหลายด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การค้า การท่องเที่ยว และการบริโภค ไม่เว้นแม้แต่การประกอบกิจการโรงงาน ดังนั้น โรงงานทุกแห่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกัน COVID-19 ด้วยการจัดทำมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานและการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต โดยมีแนวทางดังนี้

แนวปฏิบัติการป้องกัน COVID-19 ในการทำงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม

  • มาตรการที่ 1 การตรวจคัดกรองโควิด-19

    จัดทำมาตรการทั้งเชิงรับและเชิงรุกตั้งแต่การตั้งจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ร่วมกับการลงทะเบียน “หมอชนะ” ก่อนเข้าภายในบริเวณโรงงานไปจนถึงการจัดทำป้ายประกาศหรือป้ายแนะนำวิธีปฏิบัติให้ห่างไกลจากเชื้อ COVID-19 หรือในกรณีที่ไอหรือจามอย่างถูกต้องและสามารถมองเห็นได้โดยชัดเจน พร้อมจัดให้มีจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ทั่วจุดต่าง ๆ ในพื้นที่

  • มาตรการที่ 2 การรักษาระยะห่างและสภาพแวดล้อมที่ดี

    กำหนดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1- 2 เมตร รวมถึงการจํากัดจำนวนของพนักงานตามขนาดของพื้นที่ จัดตำแหน่งโต๊ะ เก้าอี้ ให้ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตรเพื่อลดโอกาสการสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะพื้นที่การทำงาน อาทิ พื้นที่โถง พื้นที่ส่วนรวม โรงอาหาร พื้นที่สำนักงาน ห้องประชุม พื้นที่ผลิต ฯลฯ และให้ความสำคัญกับการจัดการระบบระบายอากาศที่ดี

  • มาตรการที่ 3 การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

    จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย อาทิ หน้ากากผ้า ชุด PPE อย่างเพียงพอกับจำนวนพนักงานในโรงงาน และส่งเสริมให้พนักงาน ผู้รับเหมา คู่ค้า แขกที่มาติดต่อล้างมือให้สะอาดและบ่อยครั้ง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และระมัดระวังการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

  • มาตรการที่ 4 การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

    จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับพนักงานอย่างเพียงพอและเหมาะสมเพื่อลดและป้องกันการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยแบบผ้า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยชนิด N95 กระบังหน้า ชุด PPE ถุงมือยาง รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น หมวกคลุม ถุงหุ้มรองเท้า รวมถึงจัดให้มีภาชนะเฉพาะสำหรับทิ้งโดยเฉพาะ ร่วมกับการจัดสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม

  • มาตรการที่ 5 การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโควิด-19

    ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวหรือวัสดุด้วยการใช้สารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ 0.1% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% เป็นต้น โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นผิวแต่ละชนิด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ผลิต พื้นที่จัดเก็บ พื้นที่สำนักงาน พื้นที่รับ-ส่งผลิตภัณฑ์ ของใช้ส่วนตัว และพื้นผิวที่มีการหยิบ จับ สัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ราวบันได บันได ปุ่มลิฟต์ ฯลฯ

  • มาตรการที่ 6 การรับ การขนย้าย และการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์

    วางแนวปฏิบัติสำหรับการรับ การขนย้าย และการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งต้นทางและปลายทางอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การจัดให้มีน้ำยาฆ่าเชื้อประจำรถขนส่ง การสื่อให้ให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือทั้งก่อนและหลังการรับ-ส่งสินค้า การทำความสะอาดฆ่าเชื้อรถที่ใช้ในการขนส่งทั้งก่อนออกจากโรงงานและหลังกลับจากการขนส่ง ฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมจัดเตรียมเอกสารการขนส่งให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบ เป็นต้น

  • มาตรการที่ 7 การทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าคลุมต่าง ๆ

    ทำความสะอาดเสื้อผ้า ชุดพนักงาน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ผ้าปู หรือผ้าคลุมต่าง ๆ ด้วยผงซักฟอกในน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 25 นาที จากนั้นจึงอบหรือตากให้แห้งสนิท โดยต้องมีการแยกเสื้อผ้าหรือผ้าคลุมต่าง ๆ ที่มีโอกาสติดเชื้อสูงออกจากเสื้อผ้าหรือผ้าคลุมทั่วไป และทำความสะอาดแยกกัน และควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งเสื้อผ้าที่ใช้ แล้ว เช่น ตะกร้า ถุงใส่ผ้า และอื่น ๆ ร่วมด้วย

  • มาตรการที่ 8 การจัดการของเสีย

    มอบหมายพนักงานให้รับผิดชอบในการกำจัดของเสียอย่างเป็นกิจลักษณะและเตรียมอุปกรณ์อย่างเพียงพอและเหมาะสมสำหรับการกำจัดของเสียแต่ละประเภทอย่างปลอดภัย ในกรณีที่มีผู้ป่วยในโรงงาน จะต้องมีการรวบรวม แยกประเภท และกำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี โดยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมระหว่างดำเนินการขนย้าย กำจัด และจัดการกับของเสียตลอดเวลา

  • มาตรการที่ 9 การฝึกอบรมและการสื่อสาร

    ให้ความรู้ ข้อมูล สาเหตุของการติดเชื้อ การป้องกัน และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่พนักงานเพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองจากการระบาด และขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเตรียมเอกสารให้ความรู้อย่างง่าย เช่น การติดโปสเตอร์รณรงค์รอบ ๆ โรงงาน พร้อมประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติตนของพนักงานแต่ละราย และทำการอบรมให้ใหม่หากมีความจำเป็น

  • มาตรการที่ 10 การติตตามบันทึก Timeline

    การบันทึกและติดตาม Timeline เป็นวิธีหนึ่งในกระบวนการสอบสวนและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการจึงควรสร้างนโยบายในการบันทึกและติดตาม Timeline อย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยเตือนความจำของพนักงาน ซึ่งอาจเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อพบปะลูกค้า คู่ค้า หรือบุคคลอื่น ๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่ระบาย COVID-19 เข้ามายังโรงงานอุตสาหกรรมหรือในครอบครัวโดยไม่ได้ตั้งใจ

  • มาตรการที่ 11 การแยกการพักอาศัยของหน่วยงานสำคัญ (Lockup)

    จัดเตรียมสถานที่สำหรับแยกพักอาศัยสำหรับหน่วยงานสำคัญหรือหน่วยงานเฉพาะด้านที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในโรงงานหรือกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สามารถหยุดหรือ Work from Home ได้ เช่น หน่วยงานที่ดูแลระบบสาธารณูปโภค หน่วยงานที่ควบคุมกระบวนการผลิตในห้องควบคุม เป็นต้น พร้อมดูแลด้านการเดินทาง อาหาร การทำความสะอาดพื้นที่ เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจอย่างเหมาะสม ร่วมกับระบบรักษาความปลอดภัย เช่น การห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้า- ออก หรือ จัดให้มี รปภ. หรือบุคลากรประจำทางเข้าออก การบันทึกเวลาการเข้า-ออก ของผู้ที่ Lockup เป็นต้น

  • มาตรการที่ 12 การกักตัวภายในโรงงาน (Factory Quarantine)

    ในกรณีมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันในโรงงานจำนวนมาก โรงงานอุตสาหกรรมควรประสานงานหน่วยงานภาครัฐโดยเร่งด่วนเพื่อดำเนินการตามแผนการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินและวางแผนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ โดยระหว่างรอการสนับสนุนจากภาครัฐ โรงงานอุตสาหกรรมควรมีมาตรการกักตัวกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำภายในโรงงานเพื่อลดความเสี่ยงและควบคุมการแพร่ระบาดออกสู่ภายนอกในวงกว้าง

หากภาคอุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน COVID-19 ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงาน ณ ปัจจุบันและวิถีชีวิตใหม่แบบ New Normal ซึ่งประกอบด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการมีแนวทางการจัดการที่ดี ภาคอุตสาหกรรมก็จะเกิดความต่อเนื่องในด้านธุรกิจ ทำให้สามารถประกอบกิจการและดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ https://fti.or.th/wp-content/uploads/2021/06/240564-สำเนาของ-แนวทางการตอบสนองต่อสถานการณ์โ.pdf