GMP คืออะไร

ก่อนเริ่มกิจการโรงงานใด ๆ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎ ระเบียบ และมาตรฐานหลายประการเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์และส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์คุณภาพไปยังมือผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไปจนถึงเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยาโดยตรง การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน GMP เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง เนื่องจาก GMP เป็นหนึ่งในเครื่องการันตีว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงานนั้น ๆ จะมีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสำหรับการจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับมาตรฐาน GMP เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้เข้าใจภาพรวมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของท่านต่อไป

GMP คืออะไร?

GMP (Good Manufacturing Practice) หรือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต คือ ระบบคุณภาพที่ใช้สร้างและควบคุมกระบวนการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผลิต บุคลากรและผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการเก็บรักษา โดยเน้นไปที่การป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค GMP จึงเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมกระบวนการผลิตที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการปฏิบัติตาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย เหมาะสำหรับการบริโภคนั่นเอง

GMP มีกี่ประเภท?

ในปัจจุบัน มาตรฐาน GMP แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้ปฏิบัติสำหรับอาหารทุกประเภท
  • GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) เป็นข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไป โดยมุ่งเน้นในแง่ความปลอดภัยและการขจัดความเสี่ยงของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่ง GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์จะมีการควบคุมการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไปตามรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยเฉพาะ

GMP ครอบคลุมอะไรบ้าง?

สาระสำคัญของ GMP ครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิตที่ดี นับตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการผลิต ระบบควบคุมวัตถุดิบระหว่างการผลิต การบรรจุ การจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพ การขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค การตรวจสอบและติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ บุคลากรและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงระบบบันทึกข้อมูล ระบบจัดการการสุขาภิบาลและสุขอนามัย เป็นต้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่มั่นใจเมื่อถึงมือผู้บริโภค ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็คือเพื่อให้ผู้ประกอบการมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนอันตรายทั้งทางด้านจุลินทรีย์เคมีและกายภาพในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจมาจากสิ่งแวดล้อม ตัวอาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนการผลิต รวมถึงการจดการในด้านสุขอนามัยทั้งในด้านความสะอาด การบำรุงรักษา และผู้ปฏิบัติงาน ส่วน GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์จะเน้นไปที่ประเด็นการควบคุมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เฉพาะ โดยขยายรายละเอียดในการควบคุมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนชัดเจนยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ GMP

  1. ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เหมาะสำหรับการบริโภค
  2. เป็นแนวทางการผลิตเพื่อประกันว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและปลอดภัยตรงตามมาตรฐาน
  3. ช่วยลดข้อผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
  4. สร้างความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน
  5. ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีและถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
  6. สร้างระบบมาตรฐานที่ง่ายและสะดวกในการติดตามข้อมูล
  7. เพิ่มความคล่องตัวในการดูแล การจัดการ และการประเมินงานภายในโรงงาน
  8. ป้องกันไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งขจัดปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน
  9. ช่วยเพิ่มคุณภาพอาหารในระยะยาว มีความสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อตการผลิต และช่วยลดต้นทุนการผลิต
  10. ช่วยให้ผู้ประกอบการมีระบบควบคุม รักษามาตรฐานความสะอาด และสุขลักษณะของโรงงานอย่างถูกต้อง

ความสำคัญของ GMP

GMP คือ มาตรฐานและระบบประกันคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลกว่ามีความน่าเชื่อถือสูงเนื่องจากมีข้อกำหนดมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตในทุกด้าน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค GMP จึงเป็นหนึ่งมาตรฐานที่ผู้บริโภคและกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกเชื่อถือและให้การยอมรับ ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GMP ได้ทุกประการ ย่อมทำให้สามารถสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการจะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากล

การบังคับใช้ GMP ในประเทศไทย

สสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของไทยได้นำเอาหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยาจึงต้องศึกษาข้อกำหนดโดยละเอียดเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์คุณภาพที่อยู่บนพื้นฐานข้อบังคับทางกฎหมายและมีความปลอดภัยสูงสุด

มาตรฐาน GMP กับการเช่าโรงงานหรือเช่าคลังสินค้า

สำหรับท่านผู้ประกอบการที่กำลังมองหาบริการเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังสินค้า การเช่าโกดังสินค้า และโรงงานที่ตรงตามมาตรฐาน GMP จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ โดยควรต้องพิจารณาตั้งแต่เรื่องของสถานที่ตั้งของโรงงานหรือโกดังให้เช่า โครงสร้างของตัวอาคาร การวางผังหน้าที่งาน ฯลฯ เพื่อให้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตและคุณภาพของได้อย่างตรงตามมาตรฐาน และสามารถจัดเก็บสินค้าและการขนส่งไปยังคู่ค้าหรือถึงมือผู้บริโภคโดยตรง GMP จึงเป็นมาตรฐานสำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาก่อนการเช่าโรงงานให้เช่า รวมทั้งเช่าคลังสินค้าและโกดังให้เช่า เพราะเป็นมาตรฐานในระดับสากลและเป็นระบบที่สามารถประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ โรงงานให้เช่าและคลังสินค้าให้เช่าจึงควรสอดคล้องกับมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นเครื่องการันตีคุณภาพสินค้า

Frasers Property Industrial Thailand บริษัทให้เช่าโรงงาน ให้เช่าคลังสินค้าที่พัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมยินดีนำเสนอบริการให้เช่าโรงงานและให้เช่าโกดังสินค้าคุณภาพระดับโลกที่ตรงตามมาตรฐาน GMP บนทำเลยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ บริการโรงงานให้เช่าและคลังสินค้าให้เช่าฟังก์ชันครบ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าและประปาที่ครบครัน ระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ถนนภายในโครงการที่สามารถขนถ่ายสินค้าได้สะดวก ระบบรักษาความปลอดภัยระดับมืออาชีพทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและระบบ CCTV รอบโครงการบนพื้นที่ศักยภาพที่แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่ดี มีพื้นที่ใช้สอยหลากหลายขนาดให้เลือก โครงสร้างแข็งแรง มั่นคง วางผังตามหน้าที่งานอย่างเหมาะสม รองรับการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ สามารถเริ่มการผลิตได้ทันที พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านเอกสารราชการและใบอนุญาตต่าง ๆ และให้คำปรึกษาเรื่องการต่อเติมอาคารและการติดตั้งเครื่องจักรต่าง ๆ โดยทีมงานมืออาชีพ

Reference: https://www.fda.moph.go.th/sites/food/Shared%20Documents/สาระน่ารู้สำหรับผู้ประกอบการ/28_GMP4-2_LAW_Information.pdf